ในยุคปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเทอร์เน็ตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของใครหลายๆคนไปแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีและอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงระบบเครือข่ายสัญญาณต่างๆ ทำให้การติดต่อสื่อสารทำได้ง่ายและสะดวกขึ้นอย่างมาก ผลจากการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือนและสถานประกอบการที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยแพร่ไปแล้ว พบว่า ในรอบ 5 ปีประชากรที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นเกือบสองเท่าคือ เพิ่มจากร้อยละ 12.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 22.4 ในปี 2553 และสถานประกอบการทั้งใหญ่และเล็กที่มีคนทำงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 10.7 ในปี 2548 เป็น ร้อยละ 16.5 ในปี 2553
วัตถุประสงค์ของการใช้อินเทอร์เน็ตมีความหลากหลายแตกต่างกันไป เช่น ค้นหาข้อมูล ติดตามข่าวสาร รับส่งข้อมูล เล่นเกมส์ เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจ คือ มีการนำอินเทอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มช่องทาง ในการทำธุรกิจซื้อขายสินค้าและบริการผ่านออนไลน์ หรือที่เรียกว่า ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ B2B คือ การทำธุรกิจระหว่างภาคธุรกิจด้วยกัน B2C คือ ระหว่างภาคธุรกิจกับผู้บริโภค B2G คือระหว่างภาคธุรกิจกับภาครัฐ การทำธุรกิจ e-Commerce เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่มีเงินทุนน้อยและต้องการลดต้นทุน เพราะเพียงแค่มีเว็บไซต์หนึ่งเว็บไซต์
ก็เปรียบเสมือนว่าคุณมีร้านค้าอยู่ทั่วโลกและสามารถเปิดการค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน ไม่มีวันหยุด สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยตรง รวมทั้งให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในอดีตการทำธุรกิจการค้านิยมกันเพียงการขายผ่านทางหน้าร้านเท่านั้น ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนสูง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการร้าน การจ้างคนดูแล หน้าร้าน ค่าเช่าพื้นที่ ข้อจำกัดทางด้านเวลาในการเปิดร้าน ทำเลที่ตั้งร้านค้า ซึ่งในการตั้งร้านค้าในรูปแบบเดิมนั้นส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้จักและเข้าถึงได้เฉพาะลูกค้าในพื้นที่นั้นเท่านั้น หลายคนคงสงสัยว่า สินค้าและบริการประเภทไหนที่ควรทำในรูปแบบของ e-Commerce คำตอบคือ สินค้าทุกชนิดสามารถนำมาทำได้ แต่ขึ้นอยู่ว่าสินค้าชนิดนั้นจะได้รับความนิยมมากน้อยแค่ไหน การทำธุรกิจนั้นไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใดก็ตามสิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ก่อนว่าใครคือกลุ่มลูกค้าของเรา และสินค้าที่จะขายเหมาะกับกลุ่มลูกค้ากลุ่มไหน และลูกค้ากลุ่มนั้นมีโอกาสมากน้อยในการเข้าถึงเทคโนโลยี